กลุ่มร่วมพัฒนาเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดเสวนา “วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อมกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC”
เมื่อวานนี้ 27 สิงหาคม 2562) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา นายธีระ พรชูตรง นายอำเภอบางปะกง เป็นประธานเปิดการเสวนา “วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อมกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC” โดยมีหอการค้าจังหวัดฯ ผู้นำท้องถิ่น สื่อมวลชน และชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเขาดินกว่า 400 คน เข้าร่วมรับฟังการเสวนาและแสดงความคิดเห็น
สำหรับการเสวนาในครั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.โชคป์ทวีท์ อันถาวร ประธานกลุ่มร่วมพัฒนาเขาดิน ในหัวข้อ “วิถีชีวิตและสภาพทั่วไปของคนตำบลเขาดิน และความต้องการการพัฒนา”/อาจารย์อภิชาต ทองอยู่ ประธาน EEC HDC ในหัวข้อ “ภาพรวมอีอีซีกับการเปลี่ยนแปลงในยุคใหม่ 4.0” /อาจารย์กฤษนัยน์ คณะบดีคณะภูมิศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ในหัวข้อ “ศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ตำบลเขาดินกับการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ควบคู่กันไป” /อาจารย์จิรพร ระโหฐาน ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุมวิทยาเขตชลบุรี ในหัวข้อ “อุดมศึกษา กับ EEC ความหวังใหม่ทางการศึกษา เพื่อคนในท้องถิ่น”/อาจารย์นิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ในหัวข้อ “อาชีวศึกษา ความสัมพันธ์กับการพัฒนาและการอาชีพที่เกี่ยวข้องกับบุตรหลานในท้องถิ่น”
/นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้ ในหัวข้อ “ความเป็นมาของโครงการ และการดำเนินงานในบริบทของบลูเทคซิตี้กับวิถีผู้คน/วิถีชุมชน” /นายวิวัฒน์ โมษิตสกุล ที่ปรึกษาโครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ชิตี้ ในหัวข้อ “บลูเทคซิตี้อุตสาหกรรมสะอาด 4.0” /นายวัฒนชัย บุญมานะ นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นฉะเชิงเทรา/ประธานชมรมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดฉะเชิงเทรา ในหัวข้อ “องค์กรปกครองท้องถิ่นกับการพัฒนารูปแบบใหม่” /นายสุทธา เหมสถล ประธานเครือข่ายคนรักถิ่นฐานบ้านฉาง ในหัวข้อ “การปรับตัวของประชาคมท้องถิ่น ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างบ้านฉางสมาร์ทซิตี้ และนายวิเชษฐ์ เกตุแก้ว ตัวแทนชุมซนพื้นที่อำเภอพานทองชลบุรี ชุมชนข้างเคียงกับตำบลเขาดิน ในหัวข้อ “สถานการณ์ความกังวลใจในพื้นที่บางปะกง-พานทอง”
ดร.โชคป์ทวีท์ อ้นถาวร ประธานกลุ่มร่วมพัฒนาเขาดิน ในฐานะกำนันตำบลเขาดิน กล่าวว่า
สถานการณ์ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว กระทั่งรัฐบาลได้มีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้มีกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่ประสงค์จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญ เป็นความเจริญที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนเช่นระบบอุตสาหกรรมในยุคก่อน และขณะเดียวกันก็มีกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างกับเรื่องนี้ซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ ได้เข้ามาก่อกระแสความคิดไม่เห็นด้วยกับโครงการ EEC ในพื้นที่ตำบลเขาดิน และข้างเคียง เพื่อหวังผลประโยชน์ของตัวเอง ด้วยเหตุนี้กลุ่มร่วมพัฒนาเขาดิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของคนในพื้นที่ตำบลเขาดินจริงๆ และมีความคิดเห็นร่วมกันว่าควรเชิญนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้อง ที่เป็นผู้มีความรู้ ความคิด และเป็นผู้ที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ มาร่วมพูดคุยในเวทีเสวนาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดแก่ชาวบ้านในตำบลเขาดิน และใกล้เคียง รวมทั้งต่อสาธาณะชนโดยรวมด้วย
ด้านอาจารย์อภิชาต ทองอยู่ ประธาน EEC HDC กล่าวว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นการบูรณาการการพัฒนาที่คำนึงถึงการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยมีการจัดวางตำแหน่งสถานประกอบการและตำแหน่งการจัดวางระบบสาธารณูปการที่เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการกิจการ รวมถึงการให้บริการของภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร แน่นอนว่าประชาชนในพื้นที่จะมีระบบสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวได้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งถือว่าการพัฒนา EEC เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 แบบก้าวกระโดด และเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการสร้างการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างระบบการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงสู่คนไทย ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ประชาชนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในอนาคตจังหวัดฉะเชิงเทรา จะเป็นเมือง Smart City เป็นเมืองต้นแบบ EEC ของประเทศต่อไป
ด้านนางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม บลูเทค ซิตี้ กล่าวว่า โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ บนเนื้อที่ 2,000 กว่าไร่ เป็นโครงการที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว และหากโครงการได้รับความเห็นชอบหรืออนุมัติจะเกิดการจ้างงานให้คนชุมชนได้ทำงานใกล้ครอบครัว ใกล้ถิ่นฐานบ้านเกิด กว่า 20,000 ตำแหน่ง/ยกระดับการศึกษาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยบริษัทมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทราในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในนิคมอุตสาหกรรม
เพื่อเป็นแรงงานป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ มีศูนย์วิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษาของชุมชนฯ /มีรายได้ภาษีท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคและความเป็นอยู่ที่ดี และรายได้คนในชุมชนเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจและการค้าในชุมชนดีขึ้น ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะส่งผลให้จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองแห่งความสุข สอดคล้องกับนโยบาย Smart City ของจังหวัดฉะเชิงเทราสืบไป
ซึ่งชาวบ้านที่ได้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาต่างแสดงความคิดเห็น อยากให้เกิด EEC โดยเร็ว จะได้มีความเจริญเข้ามาในพื้นที่ เพราะโอกาสมาถึงบ้านแล้ว จะทำให้มีรายได้มาถึงตัว มีงานดีๆ ทำ และยังเป็นโอกาสใหม่ๆ ให้ลูกหลานไม่ต้องออกนอกพื้นที่ ไปทำงานไกลบ้าน สามารถอยู่กับพ่อแม่เป็นครอบครัวอบอุ่นด้วย